รีวิว Nokia Lumia 630 มือถือ Quad-Core มาพร้อม Windows phone 8.1 มือถือรุ่นเล็ก ราคาเบาๆ


Nokia ส่ง Nokia Lumia 630 มือถือรุ่นแรกสุดที่มาพร้อมกับระบบปฏิบัติการตัวใหม่อย่าง Windows phone 8.1 และเฟิร์มแวร์ระบบตัวใหม่อย่าง Lumia Cyan ที่มาพร้อมกับเจ้า Nokia Lumia 630 นี้ครับ โดยเจ้า Nokia Lumia 630 นี้มาด้วยแนวคิดมือถือราคาเบาๆที่มาพร้อมกับระบบปฏิบัติการรุ่นล่าสุดนั่นอง


ต้องบอกว่าถึงเจ้ามือถือรุ่นนี้จะมาในชื่อ Nokia Lumia 630 ที่ดูเผินๆแล้วเหมือนจะเป็นรุ่นต่อจากมือถือรุ่นพี่ทื่ชื่อคล้ายกันอย่าง Nokia Lumia 620 ก็ตาม แต่ว่าจากการที่ผมสัมผัสกับมันมา ผมมองว่า เจ้า Lumia 630 นี้จะออกไปในทางรุ่นต่อของมือถือรุ่นราคาประหยัดรุ่นก่อนหน้าอย่าง Nokia Lumia 520 เสียมากกว่าเนื่องด้วยเหตุผลหลายๆประการไม่ว่าจะเป็นการวางระดับราคาที่ใกล้เคียงกัน รวมไปถึงการตัดคุณสมบัติหลายๆอย่างที่มีใน Lumia 620 ออกไปค่อนข้างเยอะจนทำให้คุณสมบัติหลายๆอย่างของเจ้า Lumia 630 ไปเทียบเท่ากับ Lumia 520

ทำให้ในภาพรวมสำหรับผมมองว่าเจ้า Lumia 630 จะออกไปในทางรุ่นต่อของ Lumia 520 มากกว่า Lumia 620 เสียอีก

Nokia Lumia 630 เป็นมือถือรุ่นแรกๆในหลายๆทางของมือถือในตระกูล Lumia ครับไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนโทนสีสันที่ Nokia เลือกเปลี่ยนสีเด่นหรือสีขายของตัวเครื่องจากโทนเหลือง แดงในปีที่ผ่านๆมา มาเป็นสีเขียว ส้มในปีนี้ (เท่าที่อ่านบทสัมภาษณ์ของต่างประเทศมา เพราะว่าทีมออกแบบของ Nokia ดูแนวโน้มของสีสันในช่วงนี้จะนิยมสีในโทนนี้มากกว่าเหลือง และแดงครับ)
สีสันที่จะเป็นสีขายของมือถือจาก Nokia ในอีกหลายรุ่นต่อจากนี้

นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนดีไซน์กล่องเป็นครั้งแรกซึ่งฉีกแนวทางการออกแบบบรรจุภัณฑ์ของมือถือ Nokia ในยุดหลังๆ (ตั้งแต่ตระกูล Lumia เป็นต้นมา) พอสมควร

กล่องแบบใหม่ ทีทิ้งรูปแบบที่ใช้งานมาเดิมไปหมด

บทความรีวิวนี้จะประกอบด้วยหมวดหมู่ต่างๆดังนี้ครับ
  • แกะกล่อง
  • ภาพรวมของตัวเครื่อง
  • สเปคเครื่อง สิ่งที่ขาดหายไปใน Lumia 630
  • ระบบปฏิบัติการ Windows phone 8.1 และ Lumia Cyan
  • การใช้งานกล้องสำหรับการถ่ายภาพนิ่งและวิดีโอ
  • การดูหนังฟังเพลงและเล่นเกมส์
  • การใช้งานแผนที่นำทาง
  • แบตเตอร์รี่


แกะกล่อง

อย่างที่ได้เกริ่นไปครับว่า Nokia Lumia 630 นี้เป็นมือถือรุ่นแรกที่ Nokia เปลี่ยนรูปแบบกล่อง จากเดิมที่เป็นกล่องสีน้ำเงินหนาๆ ขนาดพอดีเครื่องก็เปลี่ยนมาเป็นกล่องรูปทรงสี่เหลี่ยมจัตรัสที่ใหญ่ขึ้นแต่บางลงแทน ภายในกล่องบรรจุเจ้า Nokia Lumia 630 ประกอบไปด้วยอุปกรณ์ต่างๆดังนี้

  • ตัวเครื่อง Nokia Lumia 630 และแบตเตอร์รี่ที่แยกบรรจุอยู่ในซองอีกซองหนึ่ง
  • ที่ชาร์ตแบตเตอร์รี่ แต่จุดสังเกตหนึ่งประการคือ สายชาร์ตนี้เป็นสายชาร์ตอย่างเดียวจริงๆเลยนะครับ ไม่สามารถใช้ดึงสายออกมาใช้เป็นสาย USB ได้แบบรุ่นก่อนหน้า เพราะฉะนั้นในการโอนข้อมูลกับเครื่องคอมพิวเตอร์นั้น เราต้องหาสาย USB มาเองนะครับ
สายชาร์ตที่เป็นแค่สายชาร์ตเท่านั้น
  • คู่มือการใช้งาน
หมดแล้วครับ รุ่นนี้ทาง Nokia ไม่แถมหูฟังมาให้นะครับ ไม่แน่ใจว่าจะเป็นนโยบายหลังจากนี้เลยหรือไม่ในเรื่องของการไม่แถมหูฟัง เพราะรุ่นก่อนหน้านี้อย่าง Nokia Lumia Icon ที่ขายที่ต่างประเทศก็ไม่แถมหูฟังมาในกล่องเช่นกัน (แถมรุ่นนั้นเป็นรุ่นที่ราคาค่อนข้างสูงด้วย แต่ก็ไม่มีหูฟังมาให้) ต้องรอดูตอนที่ Nokia Lumia 930 เปิดขายอย่างเป็นทางการครับว่าจะมีมั้ย



ภาพรวมของตัวเครื่อง



ในแง่ของการออกแบบ Nokia Lumia 630 นั้น ถ้ามองภายนอกจะสังเกตได้ว่า Nokia ได้เปลี่ยนแนวทางการออกแบบมือถือในตระกูล Lumia ไปเล็กน้อย ซึ่งมีความเหลี่ยมมากขึ้นและมองเผินๆจะคล้ายกับมือถือรุ่นที่เพิ่งเปิดตัวอย่าง Nokia X พอสมควร (แต่ Nokia X จะเหลี่ยมกว่า) แต่ถึงอย่างไรก็ยังให้อารมณ์ของมือถือตระกูล Lumia อยู่ครับ

Nokia Lumia 630 ยังคงเอกลักษณ์ของมือถือระดับเริ่มต้น (ซึ่งส่วนตัวผมชอบนะ) ของมือถือตระกูล Lumia นั่นก็คือความสามารถในการถอดเปลี่ยนฝาหลังและแบตเตอร์รี่ได้ โดยฝาหลังของ Nokia Lumia 630 มีความยืดหยุ่น “พอสมควร” ซึ่งจะต่างกับฝาหลังของ Nokia Lumia 520 และ 620 ที่ค่อนข้างคงรูป (แต่แข็งกว่าฝาหลังขอ Lumia 625 ที่รุ่นนั้นอ่อนตัวชนิดจับดัดได้เลยทีเดียว)


แต่ด้วยความที่ตัวฝาหลังเองไม่แข็งคงรูป จึงทำให้หลายๆคนมองว่าวัสดุที่ใช้ทำเจ้า Lumia 630 นั้นด้อยกว่ารุ่นก่อนหน้าอยู่บ้างก็ตาม แต่ก็ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ถือว่าตัววัสดุไม่มีอะไรให้ติครับ
พลาสติกอาจบางลงกว่ารุ่นก่อนหน้า แต่ก็ไม่บางมาก
การถอดฝาหลังของ Lumia 630 ทำได้โดยการใช้นิ้วโป้งกดที่ส่วนกลางของฝาหลัง และใช้นิ้วชี้และนิ้วกลางสำหรับการ “แงะ” ฝาหลังออกมาจากตัวเครื่อง ซึ่งทำได้ไม่ลำบากนัก (แต่ถ้าไม่ชินมือ การถอดฝาหลังครั้งแรกๆอาจจะเก้ๆกังๆหน่อยและอาจทำให้รู้สึกว่าฝาหลังมันถอดลำบาก)

เมื่อถอดฝาหลังออกมาแล้ว เราจะเจอกับแบตเตอร์รี่ขนาด 1850 mAh ที่เป็นขุมพลังให้กับเจ้า Nokia Lumia 630 นี้ครับ (ซึ่งจะได้พูดถึงประเด็นเรื่องอายุการใช้งานแบตเตอร์รี่ภายหลัง) และเมื่อถอดแบตเตอร์รี่ออกเราก็จะพบกับช่องเสียบ Micro SD Card และซิมการ์ด ซึ่ง Nokia Lumia 630 ใช้งานซิมแบบ Micro Sim และรองรับการใช้ SD Card ได้สูงสุดที่ 128 GB



สัมผัสและงานประกอบ

ตัวเครื่อง Nokia Lumia 630 สำหรับผมไม่มีอะไรให้ติมากนัก นอกจากเรื่องพลาสติกฝาหลังที่อาจจะดูไม่พรีเมียมเท่ากับรุ่นก่อนหน้านี้อย่าง Nokia Lumia 520 และ 620 แต่ว่าก็ถือว่าคุณภาพดีในระดับราคานี้ครับ

ส่วนงานประกอบของ Nokia ไม่มีอะไรให้ติ ยังคงมาตรฐานและงานเรียบร้อยแน่นหนาดี ตัวเครื่องเบาจับถนัดมือเพราะ Nokia ใช้วัสดุฝาหลังที่ไม่ลื่นมือมาทำให้ ซึ่งส่วนตัวผมมองว่าทำให้การจับเจ้า Lumia 630 ทำได้ถนัดมือดีมาก และด้วยขนาดที่ไม่ใหญ่จนเกินไปและไม่หนาจนเกินไป ทำให้การใช้งานด้วยมือเดียวสำหรับ Nokia Lumia 630 ทำได้อย่างไม่มีปัญหา (แต่สำหรับใครที่ชอบฝาหลังแบบผิวมัน Nokia ก็มีทำฝาหลังแบบผิวมันออกมาขายแยกต่างหากเช่นกัน)

ตัวเครื่องด้านล่างมีพอร์ต USB 2.0 ซึ่งเอาไว้ชาร์ตไฟและการเชื่อมต่อข้อมูลกับเครื่องคอมพิวเตอร์ (แน่นอนว่าต้องหาซื้อสาย Micro-USB แยกเองนะครับ)



ตัวเครื่องด้านขวาประกอบไปด้วยปุ่ม 3 ปุ่มได้แก่ (จากบนลงล่าง) ปุ่มเพิ่มเสียง ปุ่มลดเสียง และปุ่มเปิด-ปิดเครื่อง (Power)
ปุ่มชัตเตอร์หายไป
น่าสังเกตว่าปุ่มชัตเตอร์ที่เคยเป็นปุ่มมาตรฐานที่ Microsoft ประกาศให้มือถือ Windows phone ทั้งหมดต้องมีนั้นหายไปจากเจ้า Nokia Lumia 630 แล้ว สาเหตุหลักเพราะ Microsoft เพิ่งเปลี่ยนข้อกำหนดใหม่สำหรับมือถือ Windows phone 8.1 ทั้งหมดว่าไม่จำเป็นที่จะต้องมีปุ่มชัตเตอร์ รวมถึงปุ่มสามปุ่มมาตรฐานด้านล่างหน้าจออีกต่อไป และนั่นทำให้ Nokia Lumia 630 ถูกทำออกมาตามมาตรฐานใหม่นั้น ทำให้มันไม่มีทั้งปุ่มชัตเตอร์และปุ่มมาตรฐาน 3 ปุ่มของ Windows phone (ปุ่ม back, home และ search) แต่ไปใช้งานปุ่มบนหน้าจอที่เรียกว่า On screen button แทน

On Screen Button มาตรฐานใหม่ของมือถือ Windows phone 8.1
ซึ่งต้องดูกันต่อไปว่าในรุ่นต่อไปหลังจากนี้ Nokia จะเลือกตัดปุ่มชัดเตอร์และปุ่มมาตรฐาน 3 ปุ่มออกจากมือถือทุกรุ่นหรือไม่ (ไม่นับ Nokia Lumia 930 ที่เป็นรุ่นต่อยอดจาก Lumia Icon ที่วางจำหน่ายก่อนการเปลี่ยนเงื่อนไขของ Microsoft นะครับ)


ด้านขวาของตัวเครื่องไม่มีปุ่มใดๆ



ด้านบนของตัวเครื่องมีแต่พอร์ตสำหรับเสียบหูฟังเท่านั้น (ย้ำอีกที Nokia ไม่แถมหูฟังมากับมือถือรุ่นนี้แล้วนะครับ)



ด้านหลัง มีโมดูลกล้องที่เด่นเป็นสง่าและนูนขึ้นมาจากฝาหลังเล็กน้อย (เล็กน้อยจริงๆครับ) ด้านหลังของเจ้า Lumia 630 นี้ชวนให้นึกถึงพี่น้องต่างสายเลือดอย่าง Nokia X เอามากๆทีเดียว



และด้านล่างของตัวเครื่องจะเป็นช่องลำโพงที่ถึงจะเล็กแต่เสียงที่ได้ดังพอสมควร คุณภาพเสียงไม่โดดเด่นนัก แต่ก็ถือว่าดูหนังฟังเพลงได้เพลินๆครับ
รูลำโพงเล็กๆ แต่เสียงดังดีมาก

สเปคของ Nokia Lumia 630

NOKIA LUMIA 630
ระบบปฏิบัติการ
 Windows Phone 8.1 พร้อมซอฟต์แวร์ Lumia Cyan
ชิปเซ็ท
 Snapdragon 400
CPU
 Quad-core 1.2 GHz Cortex-A7
GPU
 Adreno 305
RAM
 512 MB
หน่วยความจำภายใน
 ความจำภายใน 8 GB ขยายหน่วยความจำได้ถึง 128 GB ด้วย micro SD การ์ด
หน้าจอ
 จอ IPS LCD ความละเอียดระดับ FWVGA (854 x 480) ขนาด 4.5 นิ้วพร้อมเทคโนโลยี ClearBlack
 ความหนาแน่นของเม็ดสี  221 ppi
 หน้าจอกระจก Gorilla Glass 3
กล้องหลัก
 ความละเอียด 5 ล้านพิกเซล
 f/2.4 ไม่มีแฟลช
 โฟกัสอัตโนมัติ
 ระบบซูม 4 เท่า
การถ่ายวิดีโอ
 ความละเอียดระดับ HD 720p ที่เฟรมเรต 30fps รองรับการซูมได้ 4 เท่า บันทึกได้ในรูปแบบ MP4 / H.264
กล้องหน้า
 ไม่มี
การเชื่อมต่อต่างๆ
 ซิมแบบ Micro-sim
 Wi-Fi a/b/g/n/ac, Bluetooth 4.0, USB 2.0
 หูฟังขนาด 3.5 มม.
NFC
 ไม่มี
แบตเตอรี่
 แบตเตอรี่ขนาด 1830 mAh 3.7V ถอดเปลี่ยนได้
ขนาด
 ยาว 129.5 กว้าง 66.7 หนา 9.2 มม.
น้ำหนัก
 134 กรัม
คลื่นความถี่ที่รองรับ
 GSM network: 850 MHz, 900 MHz, 1800 MHz, 1900 MHz
 WCDMA: 900 MHz, 2100 MHz
สีที่วางจำหน่าย
 เขียว, ส้ม, เหลือง, ขาว และดำ (ซื้อฝาหลังสีอื่นๆเพิ่มได้เองภายหลัง)
 ราคารุ่น 1 ซิม 4,990 บาท และรุ่น 2 ซิม 5,190 บาท

จากสเปคในแง่ของมิติเครื่อง Nokia Lumia 630 จะมีขนาดและน้ำหนักที่ใกล้เคียงกับ Nokia Lumia 720 มากถ้าใครเคยจับเจ้า Lumia 720 มาก็จะพอนึกขนาดของเจ้า Lumia 630 ได้ไม่ยากนัก

ผลการทดสอบสเปคของ Nokia Lumia 630 มีดังนี้ครับ

ผลการทดสอบด้วย Device Info
ผลการทดสอบด้วย Antutu BenchMark
ผลการทดสอบด้วย ฺBasemark OS เทียบกับ Lumia 920 (ซ้าย) และ Lumia 630 (ขวา) ที่ผลัดกันแพ้ผลักกันชนะในหลายๆการทดสอบ เรียกว่าสูสีกับอดีตเรือธงเลยทีเดียว (แต่แพ้ที่แรมน้อยกว่าครึ่งหนึ่ง)



สิ่งที่ขาดหายไปใน Nokia Lumia 630


ด้วยความที่ Nokia Lumia 630 ถูกวางเอาไว้ในตำแหน่งของมือถือราคาประหยัด ซึ่งนั่นก็เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าราคาที่ถูกลงย่อมแลกมากับออพชั่นที่จะต้องหายไปครับ โดยสิ่งที่หายไปเมื่อเทียบกับ Nokia Lumia รุ่นอื่นๆ (Nokia Lumia 620 ขึ้นไป) ได้แก่
ส่วนด้านบนของหน้าจอที่โล่งมาก นั่นคือส่วนที่หายไปของเจ้า Lumia 630 ครับ

  • กล้องหน้า ซึ่งการขาดกล้องหน้าไปก็ทำให้หลายๆคนเริ่มลังเลกับเจ้า Nokia Lumia 630 เล็กน้อยครับ (โดยเฉพาะสาวๆ)
  • ไฟแฟลช: การขาดแฟลชก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผมมองเจ้า Lumia 630 ว่าเป็นรุ่นต่อของ Lumia 520 มากกว่าที่จะเป็น Lumia 620 เพราะมือถือรุ่นเดียวในตระกูล Lumia คือ Nokia Lumia 5xx ครับ แต่การถ่ายรูปในสภาวะแสงน้อยที่ทำได้ดีขึ้นก็พอชดเชยเรื่องการขาดไฟแฟลชไปได้บ้าง (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมในส่วนการถ่ายรูปครับ)
  • Equalizer Nokia Lumia 630 ไม่รองรับการปรับ Equalizer แบบเดียวกับที่ Nokia Lumia 520 เผชิญอยู่ น่าจะด้วยข้อจำกัดของฮาร์ดแวร์เอง จึงทำให้ Nokia Lumia 630 ฟังเพลงได้แบบกลางๆ ไม่ได้เสียงเทพมากเท่าที่ควร

ส่วนการปรับค่าในเมนูเสียง มีแค่นี้เท่านั้น

  • Proximity Sensor หรือเซ็นเซอร์วัดระยะวัตถุหน้าเครื่อง ซึ่งเซ็นเซอร์ตัวนี้มีผลต่อการที่หน้าจอจะดับเมื่อโทรออก โดยทั่วไปโทรศัพท์ที่มีเซ็นเซอร์ตัวนี้อยู่ หน้าจอจะดับเองเมื่อมีวัตถุไปบังเซ็นเซอร์ตัวนี้ (เช่นเวลาเรายกโทรศัพท์แนบหูขณะโทรศัพท์ รายละเอียดเพิ่มเติมอ่านได้จากที่นี่ครับ) แต่สำหรับ Nokia Lumia 630 เองจะไม่มีเซ็นเซอร์ตัวนี้นะครับ

    อย่างไรก็ดี Nokia Lumia 630 ใช้เทคโนโลยีอีกแบบที่ช่วยให้หน้าจอดับเมื่อโทร ซึ่งหน้าจอโทรศัพท์จะดับขณะมีการใช้งานฟังก์ชั่นโทรศัพท์ให้ แต่ต้องมีวัตถุที่ไปทาบบริเวณกรอบสีแดงในรูป (ต้องสัมผัสลงไปโดนผิวหน้าจอนะครับ) หน้าจอถึงจะดับให้ ซึ่งวิธีนี้มีข้อเสียเล็กน้อยคือ ถ้าเราเป็นคนที่มีแก้มเยอะ หรือโหนกแก้มสูง อาจะทำให้พื้นที่ของหน้าเราตอนโทรศัพท์ไม่แนบสนิทและทาบตรงตำแหน่งนั้นพอดี จะทำให้หน้าจอไม่ดับและมีโอกาสที่เราจะเผลอไปโดนปุ่มอื่นๆได้ขณะโทรศัพท์


แต่ว่าจากที่ผมอยู่กับเจ้า Nokia Lumia 630 มาหลายวัน ผมบอกได้ว่ายังไม่เคยเจอปัญหาไปโดยปุ่มอื่นๆขณะโทรศัพท์นะครับ และผมมองว่าวิธีที่ Nokia ทำมาให้ชดเชยการหายไปของเซ็นเซอร์ตัวนี้ก็อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ครับ

  • Ambient light Sensor หรือตัวรับแสงรอบข้างสำหรับการปรับความสว่างหน้าจออัตโนมัติ เจ้า Nokia Lumia 630 ก็ไม่มีเซ็นเซอร์ตัวนี้เช่นกันครับทำให้มันไม่สามารถปรับความสว่างหน้าจอแบบอัตโนมัติได้
  • เข็มทิศ การขาดเข็มทิศทำให้ Nokia Lumia 630 ไม่สามารถใช้งานคุณสมบัติการระบุทิศทางแบบที่ต้องการเข็มทิศได้ (แบบเดียวกับ Lumia 520) ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือในแอพ Here Map นั้น Nokia Lumia 630 จะไม่สามารถใช้งานคุณสมบัติ Live Sight ได้เนื่องจากไม่มีเข็มทิศนั่นเอง (แต่ระบบการนำทางหรือ GPS นั้นสามารถใช้งานได้ปกติและสมบูรณ์นะครับ เพราะระบบการนำทางหรือแอพแผนที่นั้น ใช้การะบุตำแหน่งผ่าน GPS ไม่ใช่เข็มทิศครับ)

เปรียบเทียบแอพ Here Map กับรุ่นที่มีเข็มทิศในตัว กับ Lumia 1520 พบว่าสัญลักษณ์ดวงตาหรือ Live Sight หายไป

จะเห็นว่าในแอพเดียวกันอย่าง Here Map เมื่อเทียบกับมือถือรุ่นอื่นที่มีเข็มทิศนั้น จะมีสัญลักษณ์ของโหมด Live Sight ขึ้นมา (รูปดวงตา) แต่ว่าสำหรับ Nokia Lumia 630 จะไม่มีสัญลักษณ์นี้

แต่ย้ำอีกที การนำทางใน Here Map และ Here Drive ยังทำงานได้ปกติ สมบูรณ์เหมือนเดิมนะครับ


คุณสมบัติอย่าง Glance Screen หรือหน้าจอสรุปข้อมูล, Double Tap to Wake หรือเคาะ 2 ทีเพื่อปลุกหน้าจอก็ไม่สามารถใช้งานได้บน Nokia Lumia 630 นะครับ

และอีกประการหนึ่งที่สำคัญมากคือ Nokia Lumia 630 รุ่น 1 ซิมแบบที่ผมได้รับมาทดสอบนี้ รองรับการใช้งาน 3G ความถี่ 900/2100 MHz หรือพูดง่ายๆคือใช้งานได้สมบูรณ์กับเครือข่าย AIS เท่านั้นใครที่จะซื้อมาใช้งานต้องคำนึงถึงข้อนี้ด้วยนะครับ (แต่ถ้าเป็นรุ่น 2 ซิมจะใช้งานได้ทุกเครือข่ายครับ)

นั่นคือสิ่งที่ขาดหายไปใน Nokia Lumia 630 ครับ ประเด็นเหล่านี้จะเป็นเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ที่มีผลต่อการตัดสินใจ อันนี้ต้องขึ้นอยู่กับเหตุผลของแต่ละท่านแล้วครับ




สิ่งที่มีใน Nokia Lumia 630

พูดถึงสิ่งที่หายไปแล้ว มาพูดถึงสิ่งที่มีบ้างดีกว่าครับ เพราะสิ่งที่เจ้า Nokia Lumia 630 ทำได้เองก็มีไม่น้อยเช่นกัน

  • Sensor Core หรือ Motion Dataรายละเอียดเกี่ยวกับ Motion Data หรือ Sensor Core นี้ผมเคยเขียนเอาไว้ที่นี่นะครับ ซึ่งถือว่าเป็นอะไรที่ Exclusive สำหรับ Nokia Lumia 630 มาก เพราะมือถือที่จะรองรับคุณสมบัตินี้ (ในช่วงแรก) นั้นได้แก่มือถือเรือธงอย่าง Nokia Lumia 930 และ 1520 รวมถึงเจ้า Lumia 630 นี้เท่านั้น (ถ้านับรุ่นที่ขายนอกประเทศไทยด้วยก็มี Lumia Icon อีกรุ่นครับ)
  • รองรับการใช้งาน 2 ซิม
    Nokia Lumia 630 เป็นมือถือรุ่นแรกในตระกูล Lumia ที่รองรับการใช้งาน 2 ซิมครับ (แต่ตอนซื้อต้องถามคนขายดีๆนะครับว่าเป็นรุ่นที่รองรับ 2 ซิมหรือไม่ เพราะ Nokia Lumia 630 มี 2 รุ่นย่อยแต่ชื่อเหมือนกัน ต่างกันที่ราคานะครับ)
  • การใช้งานลื่นไหลและล้ำกว่าด้วย Windows phone 8.1 พร้อมเฟิร์มแวร์ Lumia Cyan และ CPU ระดับ Quad-Core
    ถึงแม้ว่าเจ้า Lumia 630 จะเป็นมือถือรุ่นราคาประหยัดของสาย Windows phone แต่ว่ามันก็มาพร้อมกับ CPU ระดับ Quad Core Snapdragon 400 ที่เหนือกว่ามือถือรุ่นเรือธงรุ่นแรกๆ รวมถึงยังมาพร้อมกับระบบปฏิบัติการ Windows phone เวอร์ชั่นล่าสุดเป็นรุ่นแรกอีกด้วย และถึงแม้จะเป็นมือถือราคาประหยัด แต่การใช้งานก็ทำได้ลื่นไหลดีตามสไตล์ Windows phone ที่เรียกใช้ทรัพยากรของเครื่องน้อยอยู่แล้ว

ส่วนคุณสมบัติด้านอื่นๆของเจ้า Nokia Lumia 630 ผมเคยเขียนเอาไว้แล้วที่นี่ครับ



หน้าจอ


ต้องบอกว่าถึงแม้จะเป็นมือถือราคาประหยัด แต่ผมมองว่าเจ้า Lumia 630 ก็มีหน้าจอที่แสดงผลได้สวยงามดีตามคุณภาพราคา ซึ่งถ้ามองจากสเปคที่เป็นตัวเลขแล้ว อาจจะมองว่าความละเอียดระดับ FWVGA (854 x 480) และความหนาแน่นเม็ดสีที่ 221 ppi อาจจะน้อยเมื่อเทียบกับมือถือสมัยนี้ แต่ว่าในความเป็นจริงแล้วถ้าเทียบกับมือถือตระกูล Lumia ด้วยกัน เจ้า Lumia 630 ก็มีหน้าจอที่สวยงามในระดับที่เป็นรองซีรียส์ 9xx ชึ้นไปเท่านั้น เพราะความหนาแน่นของเม็ดสีของมือถือ Nokia Lumia รุ่น 820 ลงมาจะอยู่ที่ประมาณ 217ppi ลงไป (ยกเว้น Lumia 620 ที่ความหนาแน่นเม็ดสีอยู่ที่ 245ppi เพราะหน้าจอเล็กที่เล็กกว่า)

เพราะฉะนั้นถ้าใครรับได้ที่หน้าจอมือถือของ Nokia Lumia 720, 820 ก็ไม่น่าจะมีปัญหากับหน้าจอของเจ้า Lumia 630 นี้ครับ และ Lumia 630 ยังมาพร้อมกับเทคโนโลยี Clear black ที่ให้การแสดงผลสีดำทำออกมาได้ในระดับที่ดีและน่าพอใจ
หน้าจอสีดำ ก็แสดงผลได้ดำสนิทครับ
อีกจุดหนึ่งของหน้าจอที่ต้องพูดถึงคือการปรับมาใช้งานสิ่งที่เรียกว่า On Screen Button หรือปุ่มบนหน้าจอเป็นครั้งแรก

จากสเปคจริงที่ระบุว่า Nokia Lumia 630 นั้นมีหน้าจอขนาด 4.5 นิ้ว แต่ต้องบอกเอาไว้ก่อนครับว่าหน้าจอที่เราจะได้ใช้งานจริงนั้นจะมีไม่ถึง 4.5 นิ้วเพราะระบบต้องแบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งให้กับปุ่มมาตรฐาน 3 ปุ่มของ Windows phone ด้วย ซื่งพื้นที่ที่ว่านี้หายไปเท่าไหร่ ลองเปรียบเทียบกับ Nokia Lumia 920 ที่มาพร้อมหน้าจอขนาด 4.5 นิ้วเท่ากันดูได้ครับ
หน้าจอขนาด 4.5 นิ้วเท่ากันแต่ว่าพื้นที่ที่ใช้งานได้จริงไม่ถึงนะครับ (เทียบกับขอบสีฟ้าของ Nokia Lumia 920 (ซ้าย) ที่หน้าจอ 4.5 นิ้วเท่ากัน กับขอบล่างของปุ่ม On screen button ของ Lumia 630 (ขวา) จะเห็นว่าพื้นที่หายไปส่วนหนึ่ง) 
ส่วนการประเมินว่าจะหายไปมากหรือน้อย ต้องขึ้นกับบทนิยามของแต่ละคนแล้วครับ (สำหรับผมก็ถือว่าหายไปไม่เยอะมากนัก)



ระบบปฏิบัติการ Windows phone 8.1 และเฟิร์มแวร์ Lumia Cyan


อย่างที่บอกไปในหลายๆส่วนของรีวิวนี้ครับว่า Lumia 630 มาพร้อมกับระบบปฏิบัติการ Windows phone 8.1 และเฟิร์มแวร์ Lumia Cyan จาก Nokia ซึ่งมีคุณสมบัติใหม่ๆเพิ่มเข้ามาเยอะพอสมควร (รายละเอียดอ่านเพิ่มเติมได้จากที่นี่ครับ)

Nokia Lumia 630 สามารถใช้งานฟังค์ชั่นมาตรฐานของ Windows phone 8.1 ได้ครบถ้วนและสมบูรณ์แบบ ไม่ว่าจะเป็นระบบ Action Center ที่การช่วยให้เราจัดการการแจ้งเตือนของแอพต่างได้ง่ายๆ และการแจ้งเตือนของแอพต่างๆอย่าง Facebook, Line, Messenger หรือ Instagram จากการที่ผมทดสอบมาบอกได้ว่าไม่เจอปัญหาเรื่องแอพไม่แจ้งเตือนครับ

Cortana ระบบผู้ช่วยส่วนตัวที่เพิ่มเข้ามาใหม่


Nokia Lumia 630 รองรับการใช้งานระบบผู้ช่วยส่วนตัวอย่าง Cortana ด้วยเช่นกัน และเป็นการใช้งานในระดับที่สมบูรณ์เทียบเท่ากับมือถือรุ่นใหญ่

แต่อีกจุดหนึ่งที่ผมสังเกตได้จากการใช้งาน Windows phone 8.1 Developer Preview เทียบกับเจ้า Lumia 630 คือ การสั่งงาน Cortana ด้วยเสียงทำได้ง่ายขึ้น Cortana สามารถฟังสำเนียงภาษาอังกฤษแปร่งๆของผมได้ง่ายและถูกต้องขึ้นเยอะพอสมควร ซึ่งตรงนี้น่าจะเพราะเป็นเวอร์ชั่นสมบูรณ์ของ Windows phone 8.1 ครับ

การเล่นเว็บบราวเซอร์


ด้วยความที่ Microsoft อัพเกรดเว็บบราวเซอร์ประจำเครื่องของ Windows phone ใหม่จาก Internet Explorer (IE) 10 ใน Windows phone 8 มาเป็น Internet Explorer 11 ใน Windows phone 8.1
ถึงแม้หน้าตาการใช้งานจะไม่เปลี่ยนแปลงไปมากนัก แต่คุณสมบัติการใช้งานต่างๆนั้นมีการปรับปรุงเพิ่มขึ้นมาเยอะพอสมควร เช่นการเลื่อนหน้าและย้อนกลับ (Back and Forward) โดยการ Swipe หน้าจอไปทางซ้ายหรือขวา และที่น่าสนใจคือเราสามารถดาวน์โหลดไฟล์ต่างๆผ่าน Internet Explorer 11 ได้ด้วย (รายละเอียดอ่านได้จากที่นี่ครับ)


แอพพลิเคชั่น


เมื่อพูดถึงด้านแอพพลิเคชั่น ถึงแม้ Microsoft จะอัพเกรดระบบปฏิบัติการของตัวเองเป็นเวอร์ชั่นใหม่ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีแอพพลิเคชั่นเยอะขึ้นแบบที่หลายๆคนคาดหวังนะครับ (มีคนถามผมเข้ามาเยอะมากเรื่องนี้ ก็ขอมาเขียนที่นี่อีกทีนะครับ)
แต่สิ่งที่น่าสนใจคือปัจจุบันแอพพลิเคชั่นบน Windows phone มีเยอะขึ้นมากเมื่อเทียบกับที่ผ่านมา และด้วยการที่ Microsoft ปรับปรุงเรื่องให้นักพัฒนาสามารถเข้าถึงทรัพยากรในเครื่องได้มากขึ้น นั่นทำให้เราจะได้เห็นแอพประเภทใหม่ๆที่ไม่เคยทำได้บนระบบ Windows phone 8

ตัวอย่างง่ายๆที่เห็นกันในตอนนี้คือแอพตัดต่อวิดีโอที่มีมาบน Windows phone 8.1 แล้ว และใช้งานได้ในระดับไม่น้อยหน้าระบบปฏิบัติการอื่นๆ


ด้วยคุณสมบัติที่เพิ่มเข้ามามากมาย ทำให้หลายๆท่านอาจจะสงสัยว่าด้วยความที่เป็นมือถือรุ่นเล็ก จะสามารถใช้งานได้อย่างลื่นไหลหรือไม่ มีการกระตุกหรือหน่วงบ้างหรือเปล่า?

คำตอบคือมีบ้างครับ.... แต่ไม่บ่อย
ภาพรวมของการใช้งานนั้นต้องบอกว่า Nokia Lumia 630 สามารถตอบสนองการใช้งานได้เป็นอย่างดี การใช้งานทั่วไปลื่นไหลอย่างที่ระบบ Windows phone ควรจะเป็น อย่างไรก็ดีถึงแม้เจ้า Nokia Lumia 630 จะมาพร้อม CPU ระดับ Quad-Core แต่ด้วยแรมที่มีเพียง 512MB ทำให้มันหนีไม่พ้นปัญหาคอขวดของการใช้งานหน่วยความจำไปได้
อาการที่เจอคือการสลับแอพที่เรียกใช้หน่วยความจำหรือทรัพยากรในเครื่องหนักๆอย่าง Cortana, กับแอพแผนที่อย่าง Here map และสลับไปใข้แอพ Line จากนั้นจึงกลับมาที่ Cortana แน่นอนว่าจะเจอหน้าจอ “Loading” ให้ได้เห็นกันบ้างแต่ไม่ต้องรอกันนานครับ ไม่ถึงขั้นช้าน่าหงุดหงิด แต่มีให้เห็นบ้างและเป็นกับแอพที่ใช้ทรัพยากรเครื่องเยอะๆเท่านั้น (โดยเฉพาะ Nokia Camera)

น่าเสียดายที่ Nokia เลือกที่ให้แรมเข้ามาใน Lumia 630 เพียงแค่ 512MB เท่านั้น ถ้าได้ซัก 1GB มาจับคู่กับ CPU ระดับ Quad-Core ที่ใส่มาให้บน Lumia 630 จะทำให้ตัวเครื่องสมบูรณ์กว่าที่เป็นอยู่ แต่ด้วยข้อจำกัดด้านราคาก็ถือว่าเป็นอะไรที่อาจจะต้องแลกครับ
หน้าจอนี้ยังพอมีให้เห็นบ้าง โดยเฉพาะเวลาเปิดแอพอย่าง Nokia Camera


การถ่ายภาพ


ถึงแม้ Nokia Lumia 630 จะเป็นมือถือรุ่นที่ไม่ได้เน้นเรื่องของการถ่ายภาพเลยตั้งแต่สเปค หรือแม้แต่ในหน้ารายละเอียดของตัวเครื่องบนหน้าเว็บไซต์ แต่ผมว่าโมดูลกล้องของ Nokia Lumia 630 ก็ยังมีอะไรให้น่าพูดถึงครับ

จุดหนึ่งที่ขัดใจผมในช่วงแรกคือ การหายไปของปุ่มชัตเตอร์ที่ทำให้การเรียกใช้งานแอพกล้องเปลี่ยนไป เพราะสำหรับคนที่ใช้ระบบ Windows phone จนชินมืออย่างผม การต้องมาหาไอค่อนแอพกล้องบนหน้าจอ เป็นอะไรที่ไม่คุ้นเคยเอามากๆ แต่ว่าก็ยังมีทางแก้ขัดให้เราเข้าถึงแอพกล้องได้อย่างง่ายๆผ่าน Action Center ที่ถึงแม้จะไม่สะดวกเท่าปุ่มกล้อง แต่ก็ใช้งานแก้ขัดได้
ใช้ Action Center แก้ขัดได้
แน่นอนว่าด้วยกล้องหลังระดับ 5 ล้านพิกเซล แถมยังไม่มีแฟลช อาจจะทำให้ความน่าสนใจลดลง แต่สิ่งที่ทำให้ผมต้องพูดถึงมันคือ การใช้งานสำหรับการถ่ายรูปทั่วไปในสภาวะแสงปกติเอง Nokia Lumia 630 ก็ทำออกมาได้น่าพอใจ ไม่ขี้เหร่สีสันอาจจะไม่เด่นมาก แต่สามารถใช้งานด้านโซเชียลได้ไม่เคอะเขิน

ตัวอย่างภาพถ่ายในสภาวะแสงปกติ (คลิกที่รูปเพื่อดูภาพใหญ่ได้ครับ)







การถ่ายภาพในสภาวะแสงไม่มากอย่างในห้างที่มีแสงสลัวๆ อาจมีปัญหาเรื่องของสีสันที่ผิดเพี้ยนไปบ้างและดูสีสันไม่สดเท่าที่ควร แต่ถือว่าก็ใช้งานได้





การถ่ายภาพในสภาวะแสงน้อยแบบในงานคอนเสิร์ต ต้องบอกว่าน่าประหลาดใจที่เจ้า Lumia 630 สามารถถ่ายภาพในสภาวะแสงน้อยได้สว่างกว่าสภาพแสงจริงพอสมควร แต่ทั้งนี้ภาพที่ผมบอกว่าสว่าง ไม่ได้หมายความว่าจะออกมาคุณภาพดีนะครับ เพราะแน่นอนว่าภาพจะมี Noise เยอะ เป็นปกติของมือถือรุ่นที่ไม่ได้ทำมาเพื่อถ่ายในสภาวะแสงน้อยโดยเฉพาะ แต่ว่าน่าสนใจว่ามือถือรุ่นเล็กแบบนี้ยังสามารถทำได้ขนาดนี้ มือถือรุ่นต่อไปจากนี้ของ Nokia+Microsoft จะออกมาเป็นอย่างไร

ภาพก่อนกดชัตเตอร์
ภาพหลังถ่ายแล้ว



สำหรับการถ่ายภาพในสภาวะมืดมากๆ เจ้า Nokia Lumia 630 ก็สามารถให้ผลออกมาได้น่าประหลาดใจ ถึงแม้ภาพที่ได้จะไม่สามารถเอามาใช้งานจริงได้ แต่ว่าก็แสดงให้เห็นถึงอะไรบางอย่างในโมดูลกล้องของมันได้เป็นอย่างดีครับ
ภาพก่อนกดถ่าย (ซ้าย) และภาพตอนถ่ายแล้ว (ขวา)


การถ่ายวิดีโอ



ด้วยสเปคของ Nokia Lumia 630 นั้น ตัวกล้องรองรับการถ่ายวิดีโอที่ความละเอียดสูงสุดที่ 720p 30 fps ครับ คุณภาพของภาพและเสียงที่ได้ถือว่าอยู่ในระดับน่าพอใจสำหรับผมครับ อาจจะมีภาพสั่นไหวบ้างเพราะไม่มีระบบ OIS (แหงล่ะ ด้วยประเด็นด้านราคา) แต่ว่าถ้าตัดประเด็นนี้ออกไปผมว่าการถ่ายวิดีโอของเจ้า Nokia Lumia 630 ก็ถือว่าใช้งานได้ครับ

ตัวอย่างวิดีโอทั่วไป




การถ่ายวิดีโอในที่แสงไม่มากนักและเสียงรอบข้างเยอะ ส่วนตัวผมว่า Nokia Lumia 630 เองทำออกมาได้อย่างน่าพอใจแบบในวิดีโอนี้

ตัวอย่างวิดีโอในงานคอนเสิร์ต






ความบันเทิงอื่นๆ การดูหนัง ฟังเพลง เล่นเกมส์ และโซเชียลเน็ตเวิร์ค


ในแง่ของการตอบสนองความบันเทิงด้านอื่นๆ Nokia Lumia 630 ก็ตอบสนองการใช้งานทั่วไปได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นการดูหนังที่ในตอนนี้ระบบ Windows phone เองก็มีแอพดูหนังครอบจักรวาลอย่าง MoliPlayer ที่รองรับการดูหนังหลากหลายรูปแบบไฟล์ และรองรับการดูวิดีโอความละเอียดระดับ Full-HD ซึ่งถึงแม้หน้าจอของเจ้า Lumia 630 จะไม่รองรับการแสดงผลในระดับนั้น แต่ก็ดูไฟล์ Full-HD ได้ไม่กระตุกและไม่มีปัญหาใดๆ และคุณภาพที่ได้ก็ตามรูปเลยครับ

ไฟล์ Full-HD เล่นได้ไม่มีปัญหา

การเล่นเกมส์


ด้วย CPU ระดับ Quad-Core ที่มีมาให้ ทำให้ Nokia Lumia 630 เองเล่นเกมส์ที่มีอยู่ใน Windows phone store ในตอนนี้ ที่รองรับมือถือรุ่นที่มีแรม 512 MB ได้อย่างไม่มีปัญหา แต่ว่าเกมส์ที่ต้องการแรม 1GB ขึ้นไปในการเล่น ก็ยังคงเป็นพรมแดนที่ชาว Windows phone รุ่นเล็กไม่สามารถก้าวเข้าไปได้เช่นเดิม

ข้อสังเกตอีกประการในการเล่นเกมส์ของผมคือ ไม่แน่ใจว่าด้วยวัสดุหรือเพราะการจัดสรรพลังงานที่ขึ้น แต่การเล่นเกมส์ต่อเนื่องบน Nokia Lumia 630 นั้นทำให้เครื่องร้อนน้อยกว่ารุ่นก่อนๆอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งนี่นับเป็นข้อดีครับ

และข้อดีอีกอย่างของระบบ Windows phone 8.1 คือเราสามารถติดตั้งแอพหรือเกมส์ลงใน SD Card ได้ เพราะฉะนั้นข้อจำกัดของพื้นที่ภายในเครื่องที่มีอยู่ 4GB (และมีให้ใช้จริง 2GB กว่าๆเท่านั้น) ก็จะไม่เป็นปัญหาอีกต่อไป (แต่ถ้าต้องการติดตั้งแอพหรือเกมส์ลงใน SD Card แนะนำให้ใช้การ์ด Class 10 จะดีที่สุดครับ)

การฟังเพลง


การใช้แอพฟังเพลงของ Nokia Lumia 630 ก็ยังคงเหมือนกับระบบปฏิบัติการ Windows phone ทั่วไป เพียงแต่ในระบบปฏิบัติการ Windows phone 8.1 นั้น Microsoft แยกแอพสำหรับการฟังเพลงออกมาต่างหากในชื่อ XBOX Music ซึ่งยังมีคุณสมบัติต่างไม่เท่ากับที่แอพ Music+Video เคยทำได้ตอน Windows phone 8 แต่ Microsoft ก็สัญญาว่าจะอัพเดทให้อย่างต่อเนื่อง

แต่หากท่านใดอยากได้ทางเลือกอื่น Nokia Mix Radio ก็ยังเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับการฟังเพลงเช่นเดิมครับ


แต่ย้ำอีกที.. Nokia Lumia 630 ไม่สามารถปรับแต่ง Equalizer ได้นะครับ


Social Network

ยังคงเป็นจุดอ่อนสำหรับระบบปฏิบัติการ Windows phone เช่นเดิมซึ่งนี่ไม่ใช่ความผิดอะไรของตัวเครื่อง แต่เป็นเพราะเจ้าของแอพ Social Network ต่างๆไม่ว่าจะทั้ง Facebook หรือ Line รวมถึงแอพดังๆในบ้านเรา ที่ยังไม่หันมาพัฒนาแอพบนระบบปฏิบัติการนี้เสียที

อย่างไรก็ดีแอพ Social Network ทั้งหมดที่มีในระบบ Windows phone เอง ก็สามารถใช้งานได้บนเจ้า Nokia Lumia 630 แบบไม่มีปัญหาและการสลับแอพใช้งานแอพพร้อมกันๆก็ทำได้ดีในระดับที่น่าพอใจ (อาจจะมีหน้าจอ Loading หรือ Resuming บ้างเพราะแรมอาจจะไม่พอ แต่ไม่ได้เจอกันบ่อยแบบที่ผมเคยเขียนถึงเอาไว้ตอนต้นนั่นแหละครับ)

มีให้ใช้ ถึงยังไม่สมบูรณ์แบบ แต่ก็ใช้งานทั่วไปได้

แอพแผนที่และการนำทาง



อย่างที่ได้บอกไปครับว่า Nokia Lumia 630 เองไม่มีเข็มทิศในตัว แต่ว่าสิ่งนั้นไม่มีปัญหาสำหรับการใช้งานแอพแผนที่ หรือแอพนำทางอย่าง Here Drive นะครับ เพียงแต่เมื่อเราหันหน้าไปทางไหนแบบไม่เคลื่อนที่ แผนที่อาจจะไม่หมุนตามให้ทันที (เพราะไม่มีเข็มทิศในตัว) แต่ว่าเมื่อเราเคลื่อนที่ ระบบ GPS ก็จะช่วยบอกให้ตัวแอพทราบว่าเรากำลังเคลื่อนที่ไปในทางใด ซึ่งทำให้ไม่มีปัญหาในการใช้งานแอพนำทาง

Nokia Lumia 630 ยังมาพร้อมกับ Here Drive+ ที่รองรับการใช้งานแบบ Offline ได้ และการจับสัญญาณ GPS นั้นทำได้รวดเร็วดี ไม่มีปัญหาสัญญาณแกว่งให้พบเท่าไหร่





แบตเตอร์รี่



อายุการใช้งานแบตเตอร์รี่ก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่งในการเลือกใช้งานโทรศัพท์สักหนึ่งเครื่อง (โดยเฉพาะสำหรับผม)

เมื่อพูดถึงอายุการใช้งานแบตเตอร์รี่ ต้องบอกว่าเจ้า Nokia Lumia 630 สามารถทำได้ในเกณฑ์มาตรฐานทั่วไปของสมาร์ทโฟนในยุคนี้ครับ ด้วยแบตเตอร์รี่ขนาด 1,830 mAh ที่ช่วยให้เจ้า Lumia 630 สามารถรองรับการใช้งานแบบของผมได้เฉลี่ยราว 10-12 ชั่วโมง โดยการใช้งานของผมมีดังนี้

  • เปิด WiFi, 3G, Location, ไว้ตลอดเวลา ปรับความสว่างของหน้าจอเป็น Medium เปิด sync อีเมล 3 บัญชี
  • แอพที่ทำงานอยู่เบื้องหลังที่ให้ทำงานตลอดเวลาคือ Facebook, Line, Whatsapp, Messenger
  • ใช้งานหนักไปทางโทรศัพท์และ Line เล่น Facebook บ้าง อ่านเว็บพอสมควรราว 1-2 ชั่วโมงเวลาอยู่บนรถไฟฟ้า และตอบคำถามต่างๆในเพจ

นี่คือผลการใช้งานแบตเตอร์รี่ของผมครับ



แต่ถ้าเปิดใช้งานระบบผู้ช่วยส่วนตัวอย่าง Cortana อายุการใช้งานแบตเตอร์รี่จะลดลงเหลือราว 7-9 ชั่วโมง

ส่วนด้านปัญหาความร้อนในการใช้งานเครื่อง บอกได้เลยครับว่าสำหรับผมเจ้า Lumia 630 ทำออกมาได้ดีมากในเรื่องของการจัดการความร้อนในเครื่อง ไม่มีปัญหาเรื่องความร้อนให้กวนใจครับ



สรุป



Nokia Lumia 630 เป็นมือถือ Quad-core ที่มาพร้อมกับระบบปฏิบัติการรุ่นล่าสุด หน้าจอสวยกว่าสเปคที่เป็นตัวเลขในกระดาษและด้วยการใช้งานที่ลื่นไหล สีสันและรูปลักษณ์ที่เหมาะมือ ทำให้มันเป็นมือถือ Windows phone ที่คุ้มค่าน่าใช้มากตัวนึงเมื่อเทียบในแง่ของความคุ้มค่าต่อราคา

แต่ด้วยข้อจำกัดหลายๆด้านในเรื่องของสเปคที่ไม่มีทั้งกล้องหน้าและไฟแฟลชรวมถึงแรม 512MB อาจทำให้หลายๆคนลังเล รวมถึงสิ่งที่ผมระบุเอาไว้ว่าอะไรบ้างที่หายไปใน Nokia Lumia 630 อาจจะทำให้หลายๆคนต้องชั่งใจว่าสิ่งที่หายไปนั้นมันจำเป็นสำหรับคุณหรือไม่

แต่ถ้าท่านไม่มีประเด็นในเรื่องของสิ่งที่เจ้า Lumia 630 ขาดหายไป คงต้องบอกได้ว่าเจ้า Lumia 630 เป็นหนึ่งในตัวเลือกที่หลายๆคนน่าจะถูกใจ โดยเฉพาะท่านที่อยากอัพเกรดมาจากมือถือ Windows phone 8 รุ่นก่อนหน้าอย่าง Nokia Lumia 520, 620 แต่ยังไม่อยากกระโดดไปเล่นมือถือรุ่นราคาสูงเกินไป ต้องบอกว่า Nokia Lumia 630 น่าจะเป็นหนึ่งในตัวเลือกให้ท่านพิจารณาได้ดีครับ



Comments

Popular posts from this blog

ทำอย่างไร เมื่อเครื่อง Nokia Lumia ของเราเปิดไม่ติด?

จุดเด่น จุดแข็ง ของ Windows Phone ที่หลายๆคนมองข้าม People Hub มีอะไรมากกว่าที่คุณคิด ตอนที่ 1: Link contact

รายละเอียดคุณสมบัติใหม่ใน Windows 10 สำหรับมือถือ Build ล่าสุด 10551 และข้อควรระวังก่อนอัพ